การบริหารเงิน
ผป.ปรีชา วิชัยดิษฐ์
การบริหารเงิน เป็นวิธีการอันหนึ่งที่มนุษย์จะบริหารจัดการการเงินของตนที่หามาได้นั้น ให้เกิดประโยชน์และมีคุณค่ามากที่สุดในการดำรงชีวิตของตน หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า รู้จักการใช้เงินให้เป็นนั่นเอง หลักการหรือวัตถุประสงค์ของการบริหารเงินคือ การใช้เงินที่หามาได้นั้นมาใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตให้เป็นไปด้วยดี โดยใช้เงินให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายไป
บางคนหาเงินได้มาก แต่ไม่รู้จักใช้เงินที่หามาได้นั้นอย่างถูกต้อง ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่รู้จักคุณค่าของเงินที่ตนหามาด้วยความยากลำบาก หาเงินได้มากเท่าไร ก็ยังไม่พอใช้ บางครั้งก็นำไปสู่ปัญหาต่างๆ ที่ไม่ได้คาดคิดต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหานั้นๆ อีกต่างหาก นับว่าพลาดโอกาสที่ดีไปอย่างน่าเสียดาย ต่างกับบางคนที่หาเงินได้ไม่มากนัก แต่เขารู้จักที่จะใช้จ่ายเงินอย่างเป็นระบบและมีเป้าหมายการใช้เงินอย่างชัดเจน ทำให้การดำเนินชีวิตของเขาราบรื่นมีความสุข สะดวก สบาย ไม่มีปัญหาใดๆ ต้องมาแก้ไขให้ยุ่งยากลำบากใจ
ปี ค.ศ.2012 (พ.ศ.2555) มีหลายประเทศกำลังมีปัญหาการเงิน ประเทศไทยนับตั้งแต่ประกาศค่าแรงงานขั้นต่ำวันละ 300.- บาท นั้น มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาสภาพการเงินไม่คล่องตัว เสถียรภาพการเงินไม่มั่นคง นำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อ คือค่าของเงินตกต่ำกว่าเดิม เงินจำนวนเดียวกัน ซื้อสิ่งของได้น้อยกว่าเดิม หรือจะกล่าวได้ว่าสินค้ามีราคาเพิ่มขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้นจากเดิม ปัญหาเงินฝืด คือไม่มีเงินที่จะซื้อสิ่งของต่างๆ ในการดำรงชีวิตเหมือนอย่างก่อน ถ้าไม่แก้ไขปัญหานี้ได้ทันเวลา ก็อาจจะเกิดช่องว่างในสังคมมากขึ้นกว่าเดิม จะมีพวกหนึ่งมีฐานะร่ำรวยมากยิ่งขึ้น แต่คนส่วนใหญ่จะมีฐานะที่ยากจนกว่าเดิม ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก ธนาคาร บริษัท ร้านค้า อาจจะไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ต้องปิดกิจการหรือล้มละลาย นำไปสู่ปัญหาคนตกงาน ไม่มีงานทำ ครอบครัวแตกแยก การดำเนินชีวิตจะยากลำบากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ผู้คนอยู่ในสภาวะสับสนและระส่ำระส่ายต้องดิ้นรน ทำทุกวิถีทางเพื่อเอาตัวรอดพ้นจากปัญหานี้ โดยไม่คำนึงถึงกฎหมาย ศีลธรรม คุณธรรม และจรรยาบรรณในวิชาชีพ นำไปสู่การแย่งชิง โจรกรรม อาชญากรรม ยาเสพติด ซึ่งล้วนแต่จะนำไปถึงความวิบัติ และหายนะต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติต่อไป
เราจะเผชิญปัญหานี้ได้อย่างไร มีคนให้ความคิดเห็นพร้อมกับเสนอแนะวิธีการที่จะแก้ไขปัญหานี้ในแง่มุมมองที่แตกต่างกันออกไปบนพื้นฐานของความเชื่อ ความรู้ และประสบการณ์ของผู้นั้น มีหนทางเดียวเท่านั้น ที่จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างแท้จริง นั่นคือต้องเชื่อและไว้วางใจในพระเจ้าเท่านั้น ไม่ต้องวิตก ทุกข์ร้อน หวั่นไหวเกินไปจนลืมนึกถึงพระเจ้า ก่อนอื่นที่สุด เราจะต้องยอมรับความจริงว่าอะไรจะต้องเกิด มันก็จะต้องเกิดไม่สามารถหลีกเลียงได้ ดังนั้นจงยอมรับปัญหาที่จะมีมานั้นด้วยดี พร้อมที่จะเผชิญปัญหานั้น ด้วยความเชื่อมั่นในพระเจ้า ด้วยการวิงวอนขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าให้มีกำลังและสติปัญญาในการแก้ไขปัญหานั้นๆ อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ต้องรู้จักอดทนรอคอยการทรงนำจากพระเจ้า โดยไม่ต้องสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นวางใจในพระเจ้าเท่านั้นเหมือนอย่างที่พระเยซูได้กล่าวไว้ในพระธรรม มัทธิว 19:26 “ฝ่ายมนุษย์ก็เหลือกำลังที่จะทำได้ แต่พระเจ้าทรงกระทำให้สำเร็จได้ทุกสิ่ง”
ไม่ว่าจะมีปัญหานี้หรือไม่อย่างไรก็ตาม เราควรต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการบริหารเงินให้ถูกต้อง และสอดคล้องกับที่เราเชื่อพระเจ้า ด้วยการ
1.วางแผนการบริหารเงิน จัดสรรเงินที่หามาได้ออกเป็นสิบส่วน นำส่วนหนึ่งมาถวายพระเจ้า กล่าวคือ ถวายสิบลดต่อพระเจ้าดังตามพระธรรม มาลาคี 3:8-12 “จะฉ้อพระเจ้าหรือ แต่เจ้าทั้งหลายได้ฉ้อเรา แต่เจ้ากล่าวว่า เราทั้งหลายฉ้อพระเจ้าอย่างไร ก็ฉ้อในเรื่องทศางค์ และเครื่องบูชานั้นซิ เจ้าทั้งหลายต้องถูกสาปแช่ง ด้วยคำสาปแช่ง เพราะเจ้าทั้งหลายทั้งชาติฉ้อเรา พระเจ้าจอมโยธาตรัสว่า จงนำทศางค์เต็มขนาดมาไว้ในคลัง เพื่อว่าจะมีอาหารในนิเวศของเรา จงลองดูเราในเรื่องนี้ ดูทีหรือว่า เราจะเปิดหน้าต่างในฟ้าสวรรค์ให้เจ้า และเทพรอย่างล้นไหลมาให้เจ้าหรือไม่ เราจะขนาบตัวที่ทำลายให้เจ้า เพื่อว่ามันจะไม่ทำลายผลแห่งพื้นดินของเจ้า และผลองุ่นในไร่นาของเจ้าจะไม่ร่วง พระเจ้าจอมโยธาตรัสดังนี้แหละ พระเจ้าจอมโยธาตรัสว่า แล้วประชาชาติทั้งสิ้นจะเรียกเจ้าว่า ผู้ที่ได้รับพระพร ด้วยว่า เจ้าจะเป็นแผ่นดินที่น่าพึงใจ”
การถวายสิบลดหนึ่งต่อพระเจ้านั้น จะต้องกระทำด้วยความยินดีและเต็มใจ ด้วยท่าทีถ่อมใจ และยำเกรงพระเจ้า โดยไม่หวั่นไหวต่อคำพูดที่ว่า เงินสิบส่วนยังไม่พอใช้จ่ายเลย นี่จะใช้เพียงเก้าส่วนให้พอใช้ได้อย่างไร ทวนกระแสความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้
ผู้ที่นำถวายสิบลดนั้นต้องมั่นคงและเชื่อไว้วางใจพระเจ้าเท่านั้น และจะได้เห็นความจริงในเรื่องนี้ ตามที่กล่าวไว้ใน พระธรรม 2 โครินทร์ 9:6-8 “นี่แหละคนที่หว่านเพียงเล็กน้อย ก็จะเกี่ยวเก็บได้เพียงเล็กน้อย คนที่หว่านมากก็จะเกี่ยวเก็บได้มาก ทุกคนจงให้ตามที่เขาได้คิดหมายไว้ในใจ มิใช่ให้ด้วยนึกเสียดาย มิใช่ให้ด้วยการฝืนใจ เพราะว่าพระเจ้าทรงรักคนนั้นที่ให้ด้วยใจยินดี และพระเจ้าทรงฤทธิ์อาจประทานของดีทุกสิ่งอย่างอุดมแก่ท่านทั้งหลาย เพื่อให้ท่านมีทุกสิ่งทุกอย่างเพียงพอสำหรับตัวเสมอ ทั้งจะมีสิ่งของบริบูรณ์สำหรับงานที่ดีทุกอย่างด้วย”
ส่วนเงินที่เหลืออยู่เก้าส่วนนั้น ให้นำมาจัดทำแผนการใช้เงินโดยคำนึงถึงตามความต้องการและความจำเป็น ก่อนหลังเป็นหลัก กำหนดแผนการใช้เงินให้แน่ชัดว่าจะใช้เงินทำอะไร ทำที่ไหน ทำอย่างไร เสียค่าใช้จ่ายเท่าไร จะเริ่มใช้เงินเมื่อไร และสิ้นสุดการใช้เงินเมื่อไร การกำหนดแผนการใช้เงินนั้น ก็เพื่อช่วยให้การใช้เงินเป็นประโยชน์และให้มีคุณค่า เพราะว่าได้มีกรอบการใช้เงินอยู่แล้ว
2.วินัยการใช้เงิน เมื่อกำหนดแผนการใช้เงินอย่างแน่ชัดแล้ว ก็ควรมีวินัยการใช้เงินดังนี้
2.1 ใช้เงินให้เป็นไปตามแผนการเงินที่กำหนดไว้เท่านั้น
2.2ใช้เงินอย่างประหยัดและรู้คุณค่าของเงิน ไม่ใช่ว่าเมื่อมีแผนการใช้เงินแล้ว ก็มุ่งหน้าที่จะใช้เงินให้หมดไป โดยไม่ต้องคิดคำนึงถึงสิ่งอื่นใด ทั้งนี้ควรคิดคำนึงอยู่เสมอว่า “เราเป็นผู้ใช้เงิน ไม่ใช่เงินเป็นผู้ใช้เรา”
3.การประเมินผลแผนการใช้เงิน เมื่อมีการใช้เงินตามแผนการใช้เงินที่กำหนดไว้นั้น ควรมีการทำบัญชีการใช้จ่ายการใช้เงินตั้งแต่แรกเริ่มจนสิ้นสุดแผน เป็นข้อมูลในการประเมินผล ที่จะปรับปรุงแก้ไขแผนการใช้เงินในเรื่องนั้นต่อไป
4.อดออมเงิน ควรรู้จักที่จะเก็บอดออมเงินที่หามาได้นั้นเพื่อไว้ใช้ในวันข้างหน้าต่อไปด้วย พระธรรมสุภาษิต บทที่ 6 ให้ข้อคิดว่า ให้พิจารณาดูมด ซึ่งเป็นสัตว์ตัวเล็กๆ เท่านั้น แต่มดยังรู้จักที่จะตระเตรียมสะสมอาหาร เพื่อจะกินในวันข้างหน้าที่มีความยากลำบาก เราควรคิดพิจารณาไตร่ตรองเรื่องนี้ให้ดี เพื่อเราจะรู้จักอดออม ตระเตรียม สะสมเงินเพื่อใช้ในวันข้างหน้าด้วย สุนทรภู่ ได้แต่งกลอนเพื่อเตือนใจ ในเรื่องนี้ว่า “มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์ มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน”
ควรระมัดระวัง การบริหารเงินให้รอบครอบ เพื่อว่าจะได้ดำเนินชีวิตอยู่ในทางของพระเจ้าด้วยดีตลอดไป ทั้งนี้ควรระลึกถึงพระธรรม 1 ทิโมธี 6:10 ที่กล่าวว่า “การรักเงินทองนั้น เป็นมูลฐานแห่งความชั่วทั้งมวล และความโลภนี้แหละจึงทำให้บางคนห่างไกลจากความเชื่อ และตรอมตรมด้วยความทุกข์” เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาการบริหารการเงินให้ถูกต้องต่อไป...